คิดอย่างไร ไม่ให้เครียด เวลามีปัญหาความเครียด คิดมาก นอนไม่หลับ
คิดอย่างไร ไม่ให้เครียด

ความเครียด เป็นเรื่องของร่างกายและจิตใจ ที่เกิดจากการตื่นตัวเตรียมรับกับสถานการณ์ หรือเหตุการณ์ใดเหตุการหนึ่ง ซึ่งคาดว่าเป็นเรื่องที่เกิดก าลังความสามารถที่จะแก้ไขได้ ทำให้รู้สึกหนักใจ เป็นทุกข์และส่งผลทำให้เกิดอาการผิดปกติ ทั้งทางร่ายการและจิตใจตามไปด้วย ความเครียดนั้นมีกันทุกคน แต่ละมากหรือน้อย ขึ้นอยู่กับสภาพปัญาหาการคิดการประเมินสถานการณ์ของแต่ละคนถ้าคิดว่าปัญหาไม่ร้ายแรงแก้ไขได้โดยง่ายก็จะไม่เครียด แต่ถ้าหากว่าปัญหานั้นยิ่งใหญ่ ร้ายแรง แก้ไขล าบาก ก็จะท าให้เครียดมาก หากว่ามีความเครียดในระดับพอดีๆ ก็จะช่วยให้มีพลัง มีความกระตือรือร้นในการต่อสู้ชีวิต ฟันฝ่าอุปสรรคต่างๆ ได้ ซึ่งนี่เองคือข้อดีของความเครียด ไม่ใช่ว่าเครียดจะไม่มีส่วนดีๆ เอาเสียเลย
ความคิดของคนเรานี่แหละเป็นตัวการสำคัญที่ทำให้เกิดความเครียดได้ง่าย ดังนั้นหากรู้จักคิดให้เป็น ชีวิตก็จะมีความสุขขึ้นอีกเยอะเลย วันนี้เราขอนำเสนอวิธีฝึกความคิด สำหรับแก้ไขปัญหา คิดมากทําไงดี วิธีเลิกคิดมาก เลิกเครียดทำยังไง วิธีปล่อยวาง นอนไม่หลับทำอย่างไง วิธีทําให้ไม่คิดมากก่อนนอน วิธีการคลายความวิตกกังวล ให้ได้ผลด้วยวิธีคิดง่ายๆ
อาการแบบไหนที่บ่งบอกว่ากำลังเครียด?
ก่อนอื่น ควรสังเกตตัวเองว่า เป็นคนคิดมากหรือไม่ หรือชอบคิดในลักษณะวนเวียนหาทางออกไม่ได้ ไม่รู้ว่าปัญหาคืออะไร รู้สึกสับสนไปหมด ถ้าเป็นแบบนี้ ควรหยุดคิดสักพัก แล้วลองหันมาจัดการความเครียดอย่างเป็นระบบและปรับเปลี่ยนความคิดเสียใหม่
ความเครียดเป็นสภาวะของอารมณ์ของคนที่ต้องเจอกับปัญหาต่างๆ เกิดความไม่สบายใจ วิตกกังวล รู้สึกกดดันหลายครั้งที่หลายคนมักจะเครียดโดยที่ไม่รู้ตัว เพราะคนเรามักจะแสดงปฏิกิริยาตอบสนองต่อความเครียดไม่เหมือนกัน เพราะเมื่อเกิดความเครียดเราจะแสดงออกมาทางด้านร่างกาย จิตใจ อารมณ์และพฤติกรรม บางคนหงุดหงิดง่าย บางคนป่วยง่าย บางคนนอนไม่หลับ หากเรารู้วิธีจัดการ และบรรเทาความเครียดต่างๆ เหล่านั้นได้ อย่างน้อยก็ช่วยให้เราพร้อมรับมือกับความเครียดได้มากขึ้น มาดูวิธีจัดการความเครียดง่ายๆ กันว่ามีอะไรบ้าง

สัญญาณของอาการเครียดสะสม
เมื่อเรามีภาวะเครียดมาก ๆ จะทำให้สุขภาพร่างกายแย่ลงเรื่อย ๆ ผู้ที่เริ่มสงสัยว่าตนเองมีอาการเครียดสะสมหรือไม่ สามารถสังเกตตนเองได้จากพฤติกรรมต่าง ๆ ที่เปลี่ยนไป ส่วนใหญ่จะมีอาการดังนี้
- พฤติกรรมการนอนที่เปลี่ยนไป เช่น นอนไม่หลับ ตื่นเร็วเกินไป หรือ ชอบตื่นกลางดึก
- พฤติกรรมทางอารมณ์ที่เปลี่ยนไป เช่น นิ่งเงียบ ไม่พูดคุย เบื่อหน่ายชีวิต วิตกกังวล และหน้าตาเศร้าหมอง ความต้องการทางเพศลดลง
- อาการเครียดที่แสดงออกทางกาย เช่น หายใจถี่ขึ้น หรือ หายใจลำบาก หัวใจเต้นเร็ว บางรายมีอาหารปวดหัวร่วม
- ผู้ที่มีความเครียดสะสมมาก ๆ อาจมีอาการเครียดจนอยากตาย
ดูแลตนเองอย่างไรเมื่อมีอาการเครียด?
จัดการความเครียดด้วยตัวคุณเอง คำแนะนำในการดูแลตนเองเมื่อมีภาวะเครียดสะสม
- พยายามมองโลกในแง่บวก วิเคราะห์หาสาเหตุของปัญหา และแก้ปัญหาที่ต้นเหตุนั้น ๆ
- จัดสิ่งแวดล้อมรอบตัวใหม่ เช่น การจัดบ้านใหม่ หรือ โต๊ะทำงาน เพื่อลดอาการเบื่อหน่าย หรือ ความจำเจ
- บำบัดตัวเองง่าย ๆ ด้วยสิ่งที่ตนเองชอบ เช่น ดูหนัง ฟังเพลง วาดภาพ ออกกำลังกาย
- ออกไปหาสถานที่ผ่อนคลาย เช่น ไปเที่ยวทะเล ไปเดินห้างสรรพสินค้า หรือ ไปสวนสาธารณะ
- พบปะเพื่อนฝูงหรือใช้เวลากับครอบครัว การที่เราสามารถพูดคุย หรือ ปรึกษาปัญหาที่เรากำลังเผชิญนั้น สามารถลดความเครียด ความกดดันในชีวิตได้
การรักษาอาการเครียดสะสม
ความเครียดสะสมเป็นภาวะที่สร้างความกังวลและรบกวนต่อการใช้ชีวิตประจำวัน ในบางรายที่มีอาการเครียดสะสมมากๆ อาจส่งผลกระทบต่อการทำงานและคนรอบข้างได้ การไปพบจิตแพทย์จึงเป็นอีกทางเลือกหนึ่งสำหรับผู้ที่หาทางออกจากภาวะเครียดสะสมไม่ได้ หลายคนมักเข้าใจว่าการไปพบจิตแพทย์ คือ เรามีภาวะจิตไม่ปกติ แต่ในความจริงแล้ว การไปพบจิตแพทย์เป็นทางออกที่ดีที่สุดที่ช่วยให้เราบรรเทาอาการเครียดสะสม ซึ่งจิตแพทย์จะให้คำปรึกษาและบำบัดให้เราอย่างถูกต้อง เพื่อคลายความเครียดอย่างถูกวิธีนั่นเอง
ห้าวิธีขจัดความเครียดง่ายๆ ที่คุณเองก็ทำได้
1. ออกกำลังกาย คลายเครียด - Cortisol จะทำงานอย่างหนัก เราสามารถแก้ได้โดยการให้ฮอร์โมนเอนดอร์ฟีนทำงานบ้างด้วยการออกกำลังกาย อย่างน้อยๆ ถ้าเรารู้สึกตัวว่ากำลังเครียดอยู่ การได้ออกจากโต๊ะทำงานไปยืดเส้นสาย หรือเดินขึ้นลงบันไดอาจทำให้เราหลุดโฟกัสเรื่องเครียดสักพักหนึ่ง จริงๆ แล้วการออกกำลังกายในที่นี้ ไม่ได้หมายถึงการออกแรงอย่างหนัก เหงื่อตกมากๆ แต่เป็นการออกกำลังกายที่ให้ผลทางสุขภาพจิต เพียงแค่เดินปกติสัก 10 นาที หันเหความสนใจไปในทางบวก ก็ได้ผลแล้ว แต่ถ้ามีเวลาหลังเลิกงานควรจะไปออกกำลังกายอย่างจริงจัง อย่างน้อยวันละ 30 นาที แค่ 3 - 5 วันต่อสัปดาห์ก็เพียงพอให้ฮอร์โมนแห่งความสุขทำงานได้อย่างเต็มที่บ้าง
2. นั่งสมาธิ ฝึกจิต ลดเครียด - หากลองสังเกตตัวเองเมื่อไหร่ก็ตามที่คุณรู้สึกเครียด จะเหมือนมีก้อนความคิดบางอย่างวิ่งอยู่ในหัวตลอดเวลา ซึ่งเมื่อมีความเครียดวิ่งวนอยู่ในหัวตลอดทำให้เราต้องคิดซ้ำไปซ้ำมาในเรื่องเครียดนั้นๆ เราจะจัดการแก้ปัญหากับมันอย่างไรดี การจมอยู่กับความเครียดอาจทำให้เราไม่อยากทำอย่างอื่นเลย ดังนั้น การแก้ปัญหาง่ายๆ เมื่อรู้สึกวิตกกังวลมากเกินไป ลองหาเวลาทำสมาธิ หรือสวดมนต์ไหว้พระ ฝึกลมหายใจ ลองกำหนดลมหายใจเข้า - ออกง่ายๆ ทำให้ชีพจรเต้นช้าลง เอาใจไปโฟกัสการกำหนดลมก็ทำให้เราลืมเรื่องเครียดๆ ไปได้ประมานหนึ่งเลยล่ะ
3. จัดสรรเวลาในชีวิตประจำวัน - Work Life Balance เราได้ยินกันมานานแล้วแต่หลายคนยังคงไม่สามารถทำได้ นอกจากการจัดสรรเวลาการทำงาน และการใช้ชีวิตส่วนตัวให้ดีจะช่วยให้ชีวิตส่วนตัวดีขึ้นแล้ว ยังช่วยในเรี่องของการที่เราไม่เอาความเครียดต่างๆ ไปให้กับครอบครัวด้วย 8 ชั่วโมงการทำงานหลังจากนั้นควรจะหยุดคิดเรื่องงาน ไม่นำงานไปทำในขณะที่ใช้เวลาอยู่กับครอบครัว ให้โฟกัสกับเรื่องครอบครัว และนอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ นี่เป็นอีกวิธีหนึ่งในการบริหารความเครียดได้ดีเลยทีเดียว
4. ผ่อนคลายด้วยการดูหนัง ฟังเพลง - แม้ว่าเราจะจัดการปัญหาความเครียดต่างๆ ยังไม่ได้ทันที แต่การที่เราเอาตัวเองออกมาจากความเครียดได้สักพักหนึ่งก็น่าจะเป็นเรื่องที่ดีได้ทำตามใจตัวเองบ้าง เช่น การนอนดูหนัง ฟังเพลงสบายๆ หรือออกไปหากิจกรรมทำที่นอกจากการนั่งจมกับความคิดเครียดๆ แน่นอนว่าช่วยให้สมองปลอดโปร่งสักพัก และอาจทำให้เรากลับมาคิดแก้ไขปัญหาหรือเรื่องเครียดได้ด้วย
5. ปรับเปลี่ยนความคิด - การจมอยู่กับความคิดใดความคิดหนึ่งมากเกินไปอาจทำให้เกิดอาการเครียดโดยไม่รู้ตัวได้ หรือถ้าหากเราจมอยู่กับความวิตกกังวลมากๆ ก็กลายเป็นความเครียดสะสม ความเครียดที่เกิดขึ้นนั้นก็จะกลายเป็นสาเหตุของความทุกข์ใจ ในทางวิทยาศาสตร์พบว่าความคิดสัมพันธ์กับสมอง เมื่อคิดอย่างหนึ่งสมองก็จะตอบสนองไปตามนั้น หากเราตกอยู่ในภาวะเครียดเรื่องงาน สุขภาพ หรือเพื่อนร่วมงาน วิธีการคือให้เอาตัวเองออกจากความเครียดนี้ด้วยการลองปรับมุมมองปัญหาต่างๆ เอาตัวเองออกมายืนเป็นคนนอกดูบ้าง อาจทำให้เราเห็นสาเหตุของปัญหาและวิธีแก้ไขได้ง่ายกว่าการเอาตัวเองไปจมอยู่กับตรงนั้น หรือหากเรามองข้ามเรื่องเล็กน้อย และยอมรับข้อบกพร่องที่เกิดขึ้นของงานหรือเพื่อนร่วมงาน อาจทำให้เราเข้าใจสถานการณ์ และหายเครียดได้เร็วขึ้น อีกทั้งยังน่าจะป้องกันตัวจากความทุกข์ต่างๆ ได้ดีอีกด้วย
วิธีรับมือเมื่อต้องเผชิญกับความเครียด
จัดการที่ต้นตอของปัญหา - สำรวจดูว่า ความเครียดนั้นมีสาเหตุมาจากอะไร เช่น เรื่องงาน เรื่องส่วนตัว บางคนอาจเครียดจากหลายปัญหาที่เกิดขึ้นพร้อมกันก็ได้ จากนั้นค่อยพิจารณาว่า เราจะจัดการกับปัญหาที่ทำให้เครียดด้วยวิธีไหน ซึ่งมีหลากหลายวิธี อาทิ แก้ไข หลีกเลี่ยง หรือยอมรับปัญหา โดยแต่ละวิธีอาจแตกต่างกันไปตามสถานการณ์ และประสบการณ์ของบุคคล
จัดการอารมณ์ที่เกิดขึ้น - ในขณะที่เกิดความเครียดอยู่นั้น บุคคลจะมีการแสดงออกทางอารมณ์ในเชิงลบแตกต่างกันไป บางคนอาจจะอยู่ในอารมณ์โกรธ อารมณ์เศร้า หรือท้อแท้ สิ้นหวัง หากปล่อยให้อารมณ์ต่าง ๆ เหล่านี้คงอยู่นานเกินไป จะส่งผลเสียต่อสภาพจิตใจในระยะยาว จึงควรจัดการกับอารมณ์ที่เกิดขึ้นเสียก่อน เช่น เมื่อเกิดอารมณ์โกรธ ควรพยายามควบคุมตนเอง ไม่ให้แสดงอาการโมโหร้ายออกไป ไม่พาลใส่คน สัตว์ หรือสิ่งของรอบข้าง เมื่อเกิดอารมณ์เศร้า ควรหาทางระบายออกด้วยการขอคำปรึกษาจากผู้อื่นที่เราไว้ใจ หรือหยุดกิจกรรมทุกอย่างที่ทำอยู่แล้วพักผ่อนให้สมองปลอดโปร่ง หากิจกรรมที่ช่วยให้รู้สึกผ่อนคลายมากขึ้น หรือหากไม่กล้าที่จะพูดคุยกับผู้อื่น อาจใช้การเขียนระบายความรู้สึกที่อัดอั้นตันใจออกมาเป็นตัวหนังสือแทนก็ได้
การดูแลตัวเอง - คำว่า “จิตเป็นนาย กายเป็นบ่าว” ยังคงใช้ได้อยู่เสมอ เพราะมนุษย์ทุกคนย่อมต้องพบเจอกับปัญหา ไม่มีใครที่สามารถหลีกเลี่ยงได้ สิ่งที่สำคัญอย่างยิ่งคือการดูแลร่างกาย และจิตใจของตนเองให้เข้มแข็ง หมั่นฝึกฝนการควบคุมอารมณ์ รวมถึงการตั้งสติให้พร้อมตลอดเวลา เพื่อเตรียมรับมือกับปัญหาต่าง ๆ ที่อาจนำไปสู่ความเครียดได้
เมื่อไรที่ควรปรึกษาแพทย์?
หากคุณรู้สึกเครียด วิตกกังวล จนไม่สามารถควบคุมความรู้สึกเหล่านี้ได้ หรือมีความเครียดสะสมต่อเนื่อง เป็นระยะเวลนานจนไม่มีความสุข และมีอาการที่มีผลต่อชีวิตประจำวัน พบอาการทางกาย อาการทางอารมณ์ ควรปรึกษาพบแพทย์
ผู้คนในยุคปัจจุบันใส่ใจและหันมาดูแลสุขภาพจิตกันมากขึ้น จึงทำให้การมาพบจิตแพทย์เป็นเรื่องปกติ แต่ก็ยังมีคนจำนวนไม่น้อยที่ยังคงมีทัศนคติไม่ดีต่อการมาพบจิตแพทย์ บางคนอายที่คนในครอบครัวป่วยเป็นโรคทางจิตเวช หรืออายเมื่อตนเองต้องเป็นผู้มาพบจิตแพทย์ ท่านทราบหรือไม่ว่า ผู้ที่ไปพบจิตแพทย์ไม่ได้หมายความว่า เป็นผู้ป่วยจิตเวชทั้งหมด แต่เขาเหล่านั้นอาจมาขอคำแนะนำ หรือปรึกษาปัญหาต่างๆ ที่ทำให้ไม่สบายใจ ทุกข์ใจ หรือปัญหานั้นๆ ส่งผลกระทบต่อการดำเนินชีวิต การเรียนรู้และการทำงาน ก็เป็นสิ่งที่จำเป็นที่ต้องมาพบจิตแพทย์
เมื่อเรารู้สึกว่าตนเองหรือคนรอบข้างเปลี่ยนไป ในด้านใดด้านหนึ่งดังที่กล่าวมา ก็ควรมาพบจิตแพทย์ เพื่อได้รับการดูแลจิตใจให้แข็งแรง เมื่อจิตใจดีแล้ว ร่างกายก็ดีตามมาด้วย อย่าลืมดูแลจิตใจทั้งคนรอบข้างและตนเองให้เข้มแข็งกัน
ปรับเปลี่ยนความคิดอย่างไร ไม่ให้เกิดอาการเครียด
คิดอย่างมีเหตุผล - อย่าด่วนเชื่ออะไรง่าย ๆ แล้วเก็บเอามาคิดวิตกกังวล ให้พยายาม ใช้เหตุผลตรวจสอบหาข้อเท็จจริง ไตร่ตรองให้รอบครอบเสียก่อน นอกจากจะไม่ต้องตกเป็นเหยื่อให้ใครหลอกได้ง่าย ๆ แล้ว ยังตัดความกังวลลงได้ด้วย
คิดแต่เรื่องดี ๆ - ถ้าคอยคิดถึงแต่เรื่องร้าย ๆ เรื่องความล้มเหลว ผิดหวัง หรือเรื่องไม่เป็นสุขทั้งหลายก็จะยิ่งเครียดกันไปใหญ่ ควรคิดถึงเรื่องดี ๆ ให้มากขึ้น เช่น คิดถึงประสบการณ์ที่เป็นสุขในอดีต ความสำเร็จในชีวิตที่ผ่านมา คำชมเชยที่ได้รับ ความรักของพ่อแม่ ความมีน้ำใจของเพื่อน ฯลฯ จะช่วยให้สบายใจมากขึ้น
คิดเชิงบวก - ทุกสิ่งทุกอย่างบนโลกนี้ล้วนเปรียบเสมือนกับเหรียญที่มี 2 ด้าน หากเรามองแต่ด้านที่เป็นลบอยู่ตลอดเวลา จิตใจจะเต็มไปด้วยความขุ่นมัว ลองพลิกความคิดกลับไปอีกด้านบ้าง บางครั้งสิ่งที่เรามองว่ามันแย่ หรือเลวร้าย อาจมีข้อดีในตัวของมันเองก็ได้ เช่น การที่เจ้านายหรือผู้บังคับบัญชาสั่งงานครั้งละมาก ๆ นั่นอาจเป็นเพราะท่านมองเห็นถึงศักยภาพในตัวของเรา ที่จะสามารถจัดการกับปัญหาต่าง ๆ ได้ ดังนั้น ลองปรับเปลี่ยนมุมมองใหม่ ๆ ให้กำลังใจตัวเอง คิดในสิ่งที่ทำให้เรารู้สึกเป็นทุกข์น้อยลง ก็จะใช้ชีวิตอยู่ในสังคมได้อย่างมีความสุขมากขึ้น
คิดในแง่ยืดหยุ่น - อย่าเอาแต่เข้มงวด จับผิด หรือคอยตัดสินผิดถูกตัวเอง และผู้อื่นอยู่ตลอดเวลา จงละวาง ผ่อนหนักผ่อนเบา ลดทิฐิมานะ รู้จักให้อภัย ไม่ถือโทษโกรธเคือง หัดลืมเรื่องที่ทำให้ไม่พอใจ แล้วจดจำเฉพาะแต่สิ่งที่ดี ๆ
คิดหลายๆ แง่มุม - บางครั้งความคิดของเราอาจไม่ใช่สิ่งที่ถูกเสมอไป ลองฟังความคิดเห็นจากคนอื่นรอบข้างบ้าง หรือลองคิดในมุมย้อนกลับ ด้วยการนำตัวเองไปลองสวมบทบาทเป็นผู้อื่นดูบ้าง อาจพบทางออกของปัญหาได้ง่ายกว่าการจมอยู่กับความคิดของตัวเองเพียงลำพัง
คิดถึงคนอื่นบ้าง - อย่าเอาแต่คิดหมกมุ่นอยู่กับตัวเอง การคิดเปรียบเทียบตัวเองกับผู้อื่น แล้วรู้สึกว่าผู้อื่นดีกว่าตนนั้น อาจไม่จริงเสมอไป บางครั้งสิ่งใดที่มองไกล ๆ อาจเห็นเป็นอย่างหนึ่ง แต่เมื่อมองใกล้ ๆ แล้วจะเห็นเป็นอีกอย่างหนึ่ง คนที่เราแอบอิจฉาเขาอยู่ อาจเป็นคนที่เราจะต้องสงสารก็ได้ ถ้ามองให้ลึกซึ้งกว่าเดิม เช่น บางคนที่ดูมีฐานะร่ำรวย แต่อาจกำลังเป็นทุกข์ เพราะคู่ครองนอกใจ หรือมีสุขภาพที่ไม่ดี สามวันดีสี่วันไข้ก็ได้ ลองเปิดใจให้กว้าง รับรู้ความเป็นไปของคนอื่น ๆ ในสังคมดูบ้าง โดยเฉพาะคนที่ด้อยโอกาสกว่า เช่น ยากจน ตกงาน พิการ เจ็บป่วยด้วยโรคร้ายแรง หรือเรื้อรัง เป็นต้น จะได้รู้ว่ายังมีคนอีกมากมาย ที่กำลังประสบความทุกข์ยากยิ่งกว่าเรา ปัญหาของเราช่างเล็กน้อยเหลือเกิน เมื่อเทียบกับของคนอื่น จะทำให้รู้สึกดีขึ้น และยิ่งถ้าเราสามารถช่วยเหลือพวกเขาเหล่านั้นได้ เราก็จะมีความสุขใจมากขึ้นด้วย
7 วิธีคิด ให้ชีวิตน่าอยู่
จากสถิติของกรมสุขภาพจิต พบว่า ในปี 2563 คนไทยมีอัตราการฆ่าตัวตายสำเร็จอยู่ที่ 7.3 ต่อประชากรหนึ่งแสนคน หรือคิดเป็น 4,855 คน ซึ่งเพิ่มขึ้นจากปีก่อนประมาณ 1,000 คน นั่นแสดงว่า เรารักตัวเองน้อยลงหรือเปล่า? หรือเป็นเพราะเราพบเจอกับภาวะกดดันทั้งเรื่องเศรษฐกิจ ครอบครัว และการแพร่ระบาดของ Covid-19 ทำให้ท้อแท้ หมดกำลังใจ และทำร้ายตัวเอง จึงเกิดคำถามว่าในสถานการณ์เช่นนี้ทำอย่างไรจึงจะรักตัวเองได้ และคำตอบก็คือ “คิดบวก” ค่ะ คำง่าย ๆ แต่ในบางสถานการณ์กลับทำได้ยากมาก ด้วยเหตุนี้ ดิฉันจึงขอสรุป 7 ข้อแนะนำของนักจิตวิทยาในการคิดบวก เพื่อให้คุณสามารถนำมาเป็นแรงฮึดในการรักตัวเอง ให้มากขึ้นกัน
1. พาตัวเองไปอยู่กับคนคิดบวก
หากเรากำลังรู้สึกว่าท้อแท้ หมดหวัง มองอะไรก็เห็นแต่ข้อเสียเต็มไปหมด และรู้สึกได้ว่ารักตัวเองลดลงแล้วละก็ วิธีเติมกำลังใจที่ดีวิธีหนึ่งที่นักจิตวิทยาแนะนำก็คือการพาตัวเองไปอยู่กับคนที่เราสนิทใจที่เป็นคนคิดบวก ย้ำอีกครั้งนะคะ นอกจากคนที่เราจะพาตัวเองไปอยู่ด้วยจะเป็นคนที่เราอยู่ด้วยแล้วสบายใจแล้ว คนนั้นยังต้องเป็นคนที่คิดบวก เพื่อเสริมพลังใจให้กับเรา และทำให้เราเปลี่ยนมุมมอง ที่มีต่อสถานการณ์ให้เป็นไปในทางบวก เพื่อให้เรารักตัวเอง และอึด ฮึด สู้ กับสิ่งต่าง แถมคนที่คิดบวก ยังมีมุมมองการแก้ปัญหาที่สร้างสรรค์ และสามารถช่วยให้เราออกจากสถานการณ์เลวร้ายได้จริงอีกด้วย
2. มองหาส่วนที่ดีของสถานการณ์
ทักษะสำคัญของการเป็นคนคิดบวกก็คือ การเป็นคนช่างสังเกตค่ะ โดยต้องสังเกตว่าในสถานการณ์กดดันที่เราเผชิญอยู่นั้นมีข้อดีอย่างไร เช่น การถูกแก้งานบ่อย แม้จะเหนื่อยแต่ก็ทำให้เราเชี่ยวชาญและชำนาญในงานมากขึ้น หรือในสถานการณ์ที่เลวร้ายต่อความรู้สึกที่สุด คือ “การสูญเสียคนที่เรารัก” วิธีมองหาข้อดีของสถานการณ์นี้ก็คือ เราเคยมีความสุขอะไรร่วมกันมา และเราได้วางแผนที่จะมีชีวิตร่วมกันอย่างไร ขอให้ใช้ตรงนี้ยึดหัวใจเราเอาไว้ให้เรารักตัวเอง และมีชีวิตต่อไป เพื่อใช้ชีวิตเหมือนที่เราอยากจะทำ มาถึงตรงนี้ต้องขอออกตัวเลยค่ะ ว่า “การมองหาส่วนที่ดีของสถานการณ์” เป็นข้อแนะนำที่พูดง่าย แต่ทำยาก เพราะเรื่องการคิดบวกโดยมองหาข้อดีของสถานการณ์นั้น ทัศนคติส่วนตัว ลักษณะนิสัยส่วนบุคคล และแนวความคิดที่ได้รับการเลี้ยงดูมามีอิทธิพลมากพอสมควรเลยค่ะ แต่ก็เป็นเรื่องที่สามารถฝึกกันได้นะคะ
3. ยืดหยุ่น และพร้อมรับการเปลี่ยนแปลง
เทคนิคการเป็นคนคิดบวกข้อต่อมาที่นักจิตวิทยาแนะนำ ก็คือ การเป็นคนยืดหยุ่น และพร้อมรับมือกับการเปลี่ยนแปลงค่ะ ซึ่งข้อแนะนำในข้อนี้ต้องขออนุญาตอ้างถึงหลักธรรมทางพุทธศาสนา คือ หลัก “ไตรลักษณ์” ที่ว่า อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา แปลได้ว่า ความไม่แน่นอน ความทุกข์ และความไม่เป็นดั่งใจ ตามลำดับค่ะ ซึ่งหลักธรรมนี้มีความหมายสอดคล้องกับข้อเสนอแนะในการคิดบวกของนักจิตวิทยาในข้อนี้ นั่นก็คือ ในการมีชีวิตของเรา เราก็ต้องพบเจอกับความไม่แน่นอน ความไม่เป็นดั่งใจ จนทำให้เราเกิดทุกข์ ดังนั้น วิธีการลดความทุกข์และเพิ่มความรักตัวเอง ก็สามารถทำได้โดย ไม่ยึดติด ยืดหยุ่น เพื่อพร้อมรับ การเปลี่ยนแปลงที่สามารถเกิดขึ้นได้โดยไม่แจ้งให้ทราบล่วงหน้าค่ะ
4. เชื่อมั่นในตัวเอง
ความเชื่อมั่นในตนเองเป็นผลพลอยได้มาจากการมีพลังใจที่ดีตามคำแนะนำของนักจิตวิทยา ในสามข้อแรกค่ะ เพราะเมื่อเรามีพลังใจที่ดีซึ่งได้รับมาจากคนสนิทที่คิดบวก มีทักษะการสังเกตหาข้อดี ของสถานการณ์กดดันที่กำลังเผชิญอยู่ และมีความยืดหยุ่น พร้อมรับการเปลี่ยนแปลงแล้วเราจะมีความเชื่อมั่นในตัวเองมากขึ้น ว่าเราสามารถอดทนกับสานการณ์ได้ สามารถมองหาทางออก หรือสามารถแก้ไขปัญหาที่กำลังเผชิญอยู่ได้ และถึงแม้จะถูกสถานการณ์หรือคนที่สร้างสถานการณ์กดดันทำร้าย เราก็มีความเชื่อมั่นว่าเดี๋ยวมันก็ผ่านพ้นไป และเราจะมีไฟในการลุกขึ้นมาใหม่อย่างเข้มแข็ง และแกร่งกว่าเดิมค่ะ
นอกจากนี้ คนที่เชื่อมั่นในตนเอง มักจะเป็นคนที่รักตัวเอง เพราะจะไม่ยอมแพ้ต่ออุปสรรค หรือไม่ยอมให้อะไรมาทำร้ายจิตใจได้นาน จะต้องลุกขึ้นสู้จนพาตัวเองมายังจุดที่ดีกว่าได้ในที่สุดค่ะ
5. ทุกปัญหามีทางออก
โดยทั่วไปแล้ว เวลาเราเจอกับปัญหาที่รู้สึกว่าใหญ่เกินกว่าที่เราจะรับผิดชอบไหว เราจะรู้สึกว่าเราตัวเล็กลง แล้วปัญหามันใหญ่ขึ้น ๆ จนจะกลืนกินตัวเราไป ทำให้เราเครียด กดดัน และเหมือนคนตาบอดที่หาทางออกจากสถานการณ์ที่เป็นปัญหานั้นไม่เจอ แต่ถ้าเรามีความเชื่อว่า “ทุกปัญหามีทางออก” แล้วละก็เราจะอึด ฮึด สู้ อดทนต่อความยากลำบากที่เผชิญอยู่ และเมื่อเรามีกำลังใจดี มีความเชื่อมั่น คิดบวก มองเห็นข้อดีของสถานการณ์ เราจะรู้สึกว่าเราตัวใหญ่ขึ้น ๆ จนตัวพอดีกับปัญหา หรือตัวใหญ่กว่าปัญหาเสียด้วยซ้ำ หากเรามีความยืดหยุ่นมากพอที่จะพร้อมรับการเปลี่ยนแปลง เมื่อเรามีใจที่พร้อมจะแก้ปัญหา เราก็สามารถหาทางออกของปัญหาได้ค่ะ ซึ่งในการหาทางออกนี้อาจไม่ใช่การแก้ปัญหาด้วยตัวเองเพียงลำพัง แต่ยังหมายความรวมไปถึงการที่เรารู้จักที่จะขอความช่วยเหลือให้ถูกคนอีกด้วยค่ะ
6. มีสติ
เมื่อเราต้องเผชิญกับสถานการณ์เลวร้ายที่ทำให้เราลดความรักตัวเองลง สิ่งสำคัญที่สุดที่จะทำให้เราสามารถหาทางแก้ไขและพาตัวเองออกมาจากสถานการณ์กดดันนั้นได้ ก็คือ การมีสติค่ะ สติเป็นสิ่งที่ติดตัวเราอยู่เสนอ แต่มักจะหลงลืมในการนำมาใช้เมื่อเกิดปัญหา หรือพูดง่าย ๆ ว่า เรามักจะสติแตก เมื่อเกิดปัญหา แล้วยิ่งเป็นปัญหาฉุกเฉิน เร่งด่วน กดดันสูง เช่น รถชน อุบัติเหตุ ถูกไล่ออก สถานการณ์เช่นนี้จะทำให้เราควบคุมสติยาก จึงทำให้เราหาทางออกให้กับปัญหาได้ยากไปด้วย ซึ่งเป็นไปตามคำที่ว่า “สติมาปัญญาเกิด” หมายความว่า หากเราสามารถคุมสติไว้ได้ เราจะสามารถใช้ความสามารถของความรู้ ความสามารถ รวมถึงปฏิภาณไหวพริบในการแก้ไขปัญหาได้อย่างมีประสิทธิภาพค่ะ
7. คิดถึงคนที่เรารัก
ในสภาวะที่เรารักตัวเองน้อยลง เกิดความคิดที่จะทำร้ายตัวเอง หนึ่งสิ่งยึดเหนี่ยวจิตใจที่นักจิตวิทยาแนะนำอยู่เสมอ ก็คือ ให้คิดถึงคนที่เรารักค่ะ ถึงแม้ว่าหลายท่านจะนึกค้านในใจว่าก็เพราะคนที่รักไม่ใช่หรือที่ทำให้หลายคนทำร้ายตัวเอง แต่เชื่อเถอะค่ะ ว่ามีคนที่เรารักและรักเรามากกว่าหนึ่งคนแน่นอนค่ะ ถึงเราจะคิดว่าพ่อไม่รัก ก็ยังมีแม่ แฟนไม่รัก ก็ยังมีเพื่อนสนิท ขอแค่อย่าเอาใจเราไปผูกกับใครไว้แน่นเกินไป เพราะวันหนึ่งก็ต้องจากกันไปไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง และคนที่เรารักก็มีชีวิตของเขา เราเองก็มีชีวิตเป็นของเราเอง เมื่ออยู่ในสถานการณ์ที่ทำร้ายจิตใจ ขอให้คิดถึงคนที่เรารักเสมอนะคะ โดยเฉพาะตัวเราเองที่เราควรจะรักให้มากที่สุดค่ะ
ยิ่งเครียด ยิ่งป่วย เสี่ยงโรค
ภาวะเครียดสะสมส่งผลร้ายต่อสุขภาพ และก่อให้เกิดโรคต่างๆ ตามมา โรคที่เกิดจากภาวะเครียดสะสม เช่น
- โรควิตกกังวล
- โรคกลัว (โฟเบีย)
- โรคแพนิค
- โรคเครียดที่มีอาการทางกาย
- โรคเครียดภวังค์
- โรคย้ำคิดย้ำทำ
- โรคซึมเศร้า
- โรคความดันโลหิตสูง
- โรคหัวใจ
- โรคเครียดลงกระเพาะ
- โรคนอนไม่หลับ
- โรคไมเกรน
สรุป วิธีแก้เครียด แบบสั้นๆ
- ยอมรับอดีต อย่างสงบ อย่าหวาดกลัวกับอนาคต ใช้ชีวิตอยู่กับปัจจุบันให้ดีที่สุด
- ใครจะคิดอย่างไรกับเรา เป็นเรื่องของเขา ไม่ใช่เรื่องของเรา
- เวลา รักษาได้ทุกอย่าง จงให้เวลากับเวลา
- ไม่มีใครเป็นสาเหตุแห่งความสุขของเรา นอกจากตัวเรา
- อย่าเปรียบเทียบชีวิตกับคนอื่นเลย เพราะเราไม่รู้หรอกว่า ที่จริงแล้วเขาผ่านชีวิตมาอย่างไรบ้าง
- หยุดคิดมาก บางเรื่องไม่ต้องรู้คำตอบบ้าง ก็ไม่เป็นไรนะ
- ยิ้มรับกับทุกสถานการณ์